17403 จำนวนผู้เข้าชม |
PPPs หรือ Public-Private Partnerships มีความหมายหลากหลาย แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ “การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ” ซึ่ง IRDP ขอนำเสนอความหมายจากแหล่งที่มาต่างๆ และเหตุผลที่ต้องใช้ PPPs ดังนี้
World Bank ให้ความหมายของ PPPs ไว้ว่า A long-term contract between a private party and a government agency, for providing a public asset or service, in which the private party bears significant risk and management responsibility.
ในบริบทของประเทศไทย PPPs คือ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ โดยมักจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพื้นฐาน หรือโครงการให้บริการสาธารณะในระยะยาวที่มุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าภาครัฐจะดำเนินการเอง และอีกเหตุผลหนึ่งคือสัดส่วนการลงทุนของรัฐที่มีน้อยลงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ที่มีขนาดโตขึ้นทุกปี ความคาดหวังที่จะพึ่งพาการลงทุนของรัฐเป็นหลักเป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องใช้การลงทุนของภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น PPPs จึงถือเป็นทางเลือกในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเอกชนจะเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การก่อสร้าง การดำเนินการการบำรุงรักษา การจัดหาเงินทุน และการให้บริการตลอดระยะเวลาของสัญญา
โดยทั่วไปการดำเนินงานในรูปแบบ PPPs มักเป็นการทำสัญญารูปแบบภาครัฐและเอกชนร่วมลงทุนในโครงการระยะยาว และมีการโอนความเสี่ยงในด้านการก่อสร้างและการดำเนินการในโครงการที่ภาครัฐต้องดำเนินการด้านบริการสาธารณะให้เอกชนรับภาระบางส่วนหรือทั้งหมดขึ้นกับความสามารถในการบริหารความเสี่ยงระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในขณะที่ภาครัฐอาจจะต้องจ่ายค่าจ้างบริหารให้แก่เอกชน (Unitary Payment) หรือภาคเอกชนอาจมีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐได้เช่นกันในกรณีที่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้ ซึ่งการระบุรายละเอียดในสัญญาร่วมลงทุนถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ภาครัฐเองจะไม่ให้สิทธิในการปรับขึ้นอัตราค่าบริการต่างๆ อย่างเสรี อีกทั้ง เอกชนอาจถูกปรับและไม่ได้รับเงินค่าซื้อบริการจากรัฐ ในกรณีที่มาตรฐานการให้บริการไม่เป็นไปตามสัญญา อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นสุดสัญญาเอกชนต้องโอนคืนทรัพย์สินให้แก่รัฐหรืออาจมีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นก็ได้
หากตีความตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 คือ โครงการหรือกิจการที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกันที่มีอำนาจหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย มาร่วมลงทุนกันในโครงการดังกล่าวกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาต หรือสัมปทาน หรือการให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดก็ตาม
กล่าวโดยสรุปโครงการให้บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานที่ปกติแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่สำหรับโครงการ PPPs ภาคเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐ ซึ่งเป็นการผสมผสานจุดแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ นับเป็นสิ่งที่ทำให้ PPPs ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ PPPs จะช่วยเพิ่มคุณภาพและช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานทั้งต่อรัฐเอง และเอกชนผู้ร่วมลงทุน (win-win) หรือแม้แต่ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์ในแง่ของการได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพอีกทั้งเงินภาษีของประชาชนก็จะถูกใช้จ่ายอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม PPPs ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการดำเนินโครงการของรัฐในลักษณะการให้บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแต่อย่างใด หากเป็นเพียงทางเลือกที่ควรนำมาพิจารณาร่วมกับทางเลือกอื่นหลายๆ ทางเลือกเพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศชาติมากที่สุด