สถาบันการเงินประชาชนคืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร

4362 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถาบันการเงินประชาชนคืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร

สถาบันการเงินประชาชนคืออะไร มีบทบาทหน้าที่อย่างไร

     คือ องค์กรการเงินชุมชนที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่ สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนตามพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 ได้ตามความสมัครใจ โดยสถาบันการเงินประชาชนสามารถทำหน้าที่เป็นธนาคารของชุมชนซึ่งให้บริการรับฝากเงินจากสมาชิก ประชาชน และวิสาหกิจชุมชน ให้สินเชื่อแก่สมาชิก และเป็นตัวแทนการรับชำระเงินและโอนเงินของสมาชิกและประชาชน โดยมีพื้นที่ในการดำเนินงานไม่เกินเขตตำบลหรือแขวงที่ตั้งของสถาบันการเงินประชาชนและเขตหมู่บ้านที่ติดกับตำบลหรือแขวงอันเป็นที่ตั้งของสถาบันการเงินประชาชน

     การจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนเป็นการยกระดับองค์กรการเงินชุมชนให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีธนาคารผู้ประสานงานเป็นพี่เลี้ยงช่วยจัดทำและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการให้บริการทางการเงิน เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน และช่วยตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการ ซึ่งการมีพี่เลี้ยงดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนและสนับสนุนให้สถาบันการเงินประชาชนสามารถดำเนินการเป็นธนาคารของชุมชนที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจของสมาชิกและประชาชนในพื้นที่

องค์กรการเงินชุมชนประเภทใดบ้างที่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชน และยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ไหน

     คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชนได้ออกประกาศกำหนดให้ (1) กลุ่มออมทรัพย์หรือกลุ่มสัจจะ   (2) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต (3) สถาบันการเงินชุมชน และ (4) วิสาหกิจชุมชนที่ให้บริการทางการเงินและ  ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรการเงินชุมชนที่สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชน รวมถึงออกประกาศกำหนดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นธนาคาร ผู้ประสานงานของสถาบันการเงินประชาชน ทั้งนี้ องค์กรการเงินชุมชนที่สนใจจะจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนสามารถติดต่อยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่สาขาของ ธ.ก.ส. หรือธนาคารออมสินในพื้นที่

องค์กรการเงินชุมชนที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างไร

1) ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกด้วยมติไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชน
2) มีการจัดทำงบการเงินประจำปีต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน
3) มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
4) มีทุนที่ชำระแล้ว เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท
5) มีผลการดำเนินงานเป็นกำไรต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และในวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนต้องไม่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม

นอกจากนี้ สมาชิกขององค์กรการเงินชุมชนดังกล่าวต้องเป็นบุคคลธรรมดาและมีภูมิลำเนาหรือประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในพื้นที่ในการดำเนินงานขององค์กรการเงินชุมชนนั้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่สมัครเป็นสมาชิก รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อบังคับของสถาบันการเงินประชาชน

สถาบันการเงินประชาชนแตกต่างกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างไร ?

     สถาบันการเงินประชาชนกับกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นนิติบุคคลที่มีบทบาทแตกต่างกันในการเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินให้แก่ประชาชนและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยสถาบันการเงินประชาชนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนธนาคารของประชาชนในตำบลที่ให้บริการรับฝากเงิน ให้สินเชื่อ รับชำระเงินรับโอนเงิน รวมถึงส่งเสริมหรือสนับสนุนการจัดสวัสดิการในพื้นที่ดำเนินงานโดยใช้เงินที่ได้จากการจัดสรรกำไร ซึ่งจะได้ธนาคารผู้ประสานงานเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาระบบการให้บริการทางการเงิน ขณะที่กองทุนหมู่บ้านฯ ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งสามารถให้กู้ยืมแก่สมาชิกและรับฝากเงินจากสมาชิกรวมถึงจัดหาทุนจากแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์

โครงสร้างของระบบสถาบันการเงินประชาชน

ที่มา :  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้