ข่าวสาร

เกี่ยวกับหลักสูตร PEP

หลักการและเหตุผล
image
           Public – Private Partnerships หรือ PPPs เป็นรูปแบบการดำเนินโครงการของภาครัฐประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในฐานะเครื่องมือทางเลือกในการใช้ดำเนินโครงการสาธารณะของรัฐให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งโครงการบริการสาธารณะต่างๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประสบความสำเร็จมักใช้รูปแบบ PPPs ในการดำเนินโครงการ เนื่องจากรัฐสามารถควบคุมคุณภาพและสามารถกระจายความเสี่ยงไปสู่เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการของรัฐได้ โดยรัฐเองไม่ต้องใช้เงินลงทุนหรืองบประมาณจำนวนมากในการดำเนินโครงการเอง อีกทั้งรัฐยังไม่ต้องบริหารโครงการต่างๆ เองทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการนำศักยภาพของเอกชนที่มีความชำนาญในการดำเนินโครงการควบคู่กับการดำเนินนโยบายของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานในรูปแบบ PPPs มาระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน โดยในระยะแรกอยู่ในรูปแบบของสัญญสัมปทาน ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535จึงได้มีการกำหนดกระบวนการที่ชัดเจนและรัดกุมขึ้น อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่อาจจูงใจเอกชนให้มาร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการต่างๆ ได้มากนัก อันเนื่องมาจากข้อจำกัดบางประการ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงได้เสนอพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อบังคับใช้แทนกฎหมายฉบับเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการของรัฐในรูปแบบ PPPs ที่เป็นรูปแบบการดำเนินงานที่ภาครัฐให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการให้บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยมุ่งเน้นการให้บริการที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับต้นทุนมากกว่าการดำเนินการโดยภาครัฐเอง

           กฎหมายฉบับใหม่ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมกระบวนการของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาทิ ในแง่การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมีการเพิ่มเติมและปรับปรุงหลักเกณฑ์ กำหนดนโยบายให้มีขั้นตอนที่ชัดเจนและแน่นอนมากขึ้น มุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนที่ชัดเจน เพิ่มมาตรการรวมถึงกลไกในการแก้ไขปัญหา อุปสรรค ความล่าช้าในการจัดทำหรือดำเนินโครงการร่วมลงทุนให้มีความกระชับ ตั้งอยู่บนหลักการเปิดเผยโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง มีการถ่ายทอดความรู้ไปยังหน่วยงานและบุคลากรของรัฐ วางกฎระเบียบรองรับที่เหมาะสมในการคัดเลือกและกำกับดูแลต่อไป อีกทั้งมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมของเอกชน เพื่อให้เอกชนสามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           นอกจากนั้น การพัฒนานโยบายและโครงการ PPPs ยังถือเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญสำหรับประชาคมอาเซียน โดยได้มีการบรรจุให้ PPPs เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 (ASEAN Vision 2025) ด้วย ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงการ PPPs ให้มีมาตรฐานในระดับที่สามารถเป็นผู้นำของประชาคมอาเซียนในประเด็นดังกล่าวได้ต่อไป

           เนื่องจากการดำเนินการและการปฏิบัติงานตามกฎหมายร่วมลงทุน มีขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอิสระ โดยการสร้างความเข้าใจในกรอบการทำงาน กลไก และการพัฒนาโครงการ PPPs อย่างเป็นรูปธรรม จึงนับเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อไป

image
จุดเด่นของหลักสูตร

IRDP ได้พัฒนาหลักสูตร พัฒนานักบริหารด้านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PEP) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการพัฒนาโครงการ PPPs ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
image
หลักสูตรมีเนื้อหาครอบคลุมการพัฒนาโครงการ PPPs เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการวางแผนและดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวคิดใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐที่เปรียบเสมือนกลไกในการพัฒนาประเทศ
image
วิทยากรและผู้บรรยายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มากด้วยประสบการณ์ทั้งในภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี
image
หมวดการบรรยาย (Module) ที่ครอบคลุมขั้นตอนการดำเนินโครงการ PPPs ตั้งแต่การพัฒนาโครงการจนกระทั่งการสิ้นสุดสัญญา เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการ PPPs ในบริบทของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
image
ในหลักสูตรประกอบด้วยการอบรม สัมมนา การทำ Workshop และการศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจในระบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยการบรรยาย การศึกษาดูงานในประเทศเพื่อการนำความรู้ที่ได้จากการบรรยายมาเชื่อมโยงกับการดำเนินโครงการจริง และการศึกษาดูงานต่างประเทศเพื่อเปิดมุมมองในการดำเนินโครงการ PPPs รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ส่งผลให้โครงการประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินโครงการ PPPs ให้แก่ผู้เข้าอบรม ตลอดจนสามารถนำประสบการณ์ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาแนวคิดในการดำเนินโครงการ PPPs ของประเทศต่อไป
วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ต่างๆ และกลุ่มเป้าหมาย

วัตถุประสงค์
          1. สร้างความรู้ความเข้าใจในภาพรวมระบบ PPPs ของประเทศที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
          2. เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาและดำเนินโครงการ PPPs และสามารถพัฒนาโครงการหรือปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้าน PPPs ให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          3. เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าอบรมทั้งแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์ดำเนินโครงการ PPPs ที่ได้ทั้งจากการรับฟังบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนประสบการณ์จากการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศไปประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานต่อไป
          4. เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างนักบริหารหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมอบรม

กลุ่มเป้าหมาย
           หลักสูตร PEP จัดทำขึ้นสำหรับ ข้าราชการประเภทบริหาร ประเภทวิชาการ และประเภทอำนวยการ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐอื่นที่มีระดับเทียบเท่า (องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโครงการร่วมลงทุน หรือหน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เพื่อให้สามารถจัดทำหรือกำกับการจัดทำนโยบายและโครงการ PPPs ได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ
การศึกษาดูงาน

เป็นเทคนิคการศึกษานอกสถานที่เพื่อเรียนรู้แนวคิด วิธีการ และประสบการณ์ในการดำเนินโครงการ PPPs ให้ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้เพื่อสร้างแนวคิดใหม่ ให้ผู้เข้าอบรม โดยผู้เข้าอบรมสามารถถามประเด็นข้อสงสัยหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้บรรยายได้ โดยมีรายละเอียดการศึกษาดูงานดังนี้
การศึกษาดูงานในประเทศ
           มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จจากหน่วยงานที่กำลังดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และสร้างโอกาส การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรมและหน่วยงานผู้บรรยาย

การศึกษาดูงานต่างประเทศ
           หลักสูตร PEP ได้จัดให้มีการศึกษาดูงานในประเทศฟินแลนด์และประเทศเอสโตเนีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่เชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดและทฤษฎีด้านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐที่ได้จากการบรรยายในหลักสูตร กับแนวทางการปฏิบัติงานจริงในโครงการ PPPs ของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ผ่านการศึกษาดูงานโครงการ PPPs ด้านต่างๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น โครงการขนส่งมวลชนระบบราง โครงการศูนย์ประชุม โดยการใช้ PPPs ในการจัดสร้างอาคารที่ทำการของรัฐ โครงการก่อสร้างและบริหารโรงพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้ง การเข้าพบหน่วยงานกำกับดูแลด้าน PPPs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (หน่วยงานให้คำปรึกษาทางการเงินและการพัฒนาโครงการ) ซึ่งในการศึกษาดูงานจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจริง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย หน่วยงานเจ้าของโครงการ PPPs เอกชนผู้ร่วมลงทุนกับรัฐ และนักลงทุนสถาบัน ทั้งนี้การศึกษาดูงานในต่างประเทศยังมีประโยชน์ในการศึกษาถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key of success) ในการนำ PPPs มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศของประเทศนั้นๆ ตลอดจนเพื่อเปิดโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ด้าน PPPs ให้แก่ผู้เข้าอบรม

ติดต่อเรา
สอบถามรายละเอียดหลักสูตรหรืออื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
image
ดร. เสรี นนทสูติ
ผู้อำนวยการหลักสูตร PEP
image
นายศิริพงศ์ สุขสัมฤทธิกุล (รุท)
รองผู้จัดการ
Siripong@Irdp.Org
02-714-5581
image
นางสาวกรวีร์ ศรีเสน (ปุ๋งปิ๋ง)
ผู้ช่วยผู้จัดการ
Korrawee@Irdp.Org
02-714-5580
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้