การประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยว่าด้วย เรื่อง “การบริหารจัดการแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นและสิทธิมนุษยชน”

447 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยว่าด้วย เรื่อง “การบริหารจัดการแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นและสิทธิมนุษยชน”

              ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2556 เวลา 9.00-13.00 น. ดร. เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR)  ได้จัดการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยว่าด้วยเรื่อง “การบริหารจัดการแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นและสิทธิมนุษยชน” ณ ห้องประชุมอิงจันทร์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านแรงงานเคลื่อนย้ายจากทั้งหน่วยงานราชการ (กระทรวงแรงงาน สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) นักวิชการ และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคม

               การจัดทำการศึกษาวิจัยในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนถือเป็นหนึ่งในพันธกิจที่ระบุไว้ในมาตรา 4.12 ในเอกสารจัดตั้งของคณะกรรมาธิการ ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีการนำส่งรายงานของแต่ละประเทศแก่ประเทศผู้รับผิดชอบการจัดทำการศึกษาวิจัยในเรื่องนั้นๆ โดยในที่นี้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้รับผิดชอบการจัดทำการศึกษาวิจัยในประเด็นแรงงานเคลื่อนย้าย ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการได้แต่งตั้งคุณนุสรา มีเสน เป็นนักวิจัยที่รับผิดชอบการจัดทำรายงานด้านการจัดการแรงย้ายเคลื่อนย้ายในส่วนของประเทศไทย รายงานการวิจัยฉบับนี้มุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับกลไกความร่วมมือ บทบาทขององค์กรและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ดี (Good practices) ในการบริหารจัดการแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเพื่อเป็นพื้นฐานในการประเมินการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ปี 2550 และปฏิญญาอาเซียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่องค์กรเฉพาะด้านของอาเซียนที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองสิทธิของแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่น

               จุดประสงค์ของประชุมปรึกษาหารือครั้งนี้คือเพื่อให้นักวิจัยของคณะกรรมาธิการได้นำเอาข้อมูลและข้อคิดเห็นที่ได้จากผู้เข้าร่วมประชุมไปสนับสนุนและแก้ไขรายงานดังกล่าวต่อไป ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการกล่าวย้ำถึงความสำคัญในประเด็นด้านแรงงานเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะเมื่อมีการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  ในทางสถิติประเทศไทยมีแรงงานเคลื่อนย้ายที่เข้ามาอย่างถูกกฏหมายประมาณ 1,102,000 คน ในปี 2556 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานเคลื่อนจากประเทศเมียนมาร์ถึงร้อยละ 90 จำนวนแรงงานเคลื่อนย้ายดังกล่าวถูกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นภายจากการการเปิดประชาคมอาเซียน ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการกล่าวว่าประเทศไทยควรมีการจัดการที่ดีด้านแรงงานเคลื่อนย้ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ (In and Out Migration) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆที่ถูกนำเสนอโดยผู้เข้าร่วมประชุม เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านเพศสภาวะกับแรงงานเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และความไม่เสมอภาคด้านค่าจ้างระหว่างแรงงานชายและหญิง ประเด็นต่างๆดังกล่าวควรมีการศึกษาเพิ่มเติมและถูกระบุในรายงานการวิจัย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่ากลไก มาตรการ และนโยบายที่มีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดการกับความท้าทายด้านเเรงงานเคลื่อนย้ายต่างๆ เช่น กลไก มาตรการ และนโยบายการจัดการกับแรงงานเคลื่อนย้ายและบริษัทนายหน้าที่ผิดกฏหมาย คุณภาพชีวิตและสภาพการทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนด และการกีดกั้นแรงงานย้านเคลื่อนย้ายบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลผู้ไร้สัญชาติ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่ามาตรการและกลไกที่เป็นรูปธรรมในระดับภูมิภาคยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการจัดการแรงงานเคลื่อนย้าย เช่น การมีกลไกรับเรื่องราวร้องทุกข์ของแรงงานเคลื่อนย้าย และเครื่องมือทางกฏหมายสำหรับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานเคลื่อนย้ายในอาเซียน เป็นต้น

              รายงานการวิจัยนี้จะถูกนำไปเพิ่มเติมและแก้ไขโดยอาศัยข้อเสนอะแนะที่ได้จากที่ประชุมก่อนส่งมอบให้กับประเทศอินโดนีเซีย โดยในเบื้องต้นคาดว่าการศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นซึ่งเป็นรายงานการศึกษาวิจัยฉบับที่ 2 ของคณะกรรมาธิการจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า

ภาพบรรยากาศ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้