TQA/Baldrige Performance Excellence Criteria ช่วยให้องค์กรฝ่าฟัน Disruptive Change ได้อย่างไร?

644 จำนวนผู้เข้าชม  | 

TQA/Baldrige Performance Excellence Criteria ช่วยให้องค์กรฝ่าฟัน Disruptive Change ได้อย่างไร?

TQA/Baldrige Performance Excellence Criteria ช่วยให้องค์กรฝ่าฟัน Disruptive Change ได้อย่างไร

           การฝ่าฟัน Disruptive Change นอกจากอาศัยผู้นำระดับสูงที่มีวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำที่สูงอย่างยิ่งแล้ว ยังต้องการการวางกลยุทธ์ที่เฉียบแหลมและเฉียบขาด เกณฑ์ TQA/Baldrige มีคำถามหลายคำถามในหมวดที่ 2 ที่หากผู้นำระดับสูงนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กร จะทำให้ฝ่าฟัน Disruptive Change ได้ไม่ยาก ได้แก่

2.1 ก 1 ในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ ท่านควรยกประเด็นคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาพูดคุยและ   หาทางออกอย่างจริงจัง อาทิ อุตสาหกรรมของเรา มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมอะไรได้บ้าง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบรุนแรงแค่ไหน เราต้องปรับตัวอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เราต้องปรับตัวเพื่อให้     รอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมแบบนั้น อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด

2.1 ก 2 ในการวางแผนกลยุทธ์ ขอให้คุยเรื่องโอกาสเชิงกลยุทธ์ให้มากๆ    บนความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ช่วยกันระดมสมอง คิดออกนอกกรอบ เร่งหาพันธมิตรใหม่ๆ เร่งทดลองของใหม่ๆ เร่งหาโอกาสใหม่ๆ สืบเสาะหา Start up ใหม่ๆที่น่าสนใจ แล้วกลั่นกรองคัดเลือกโอกาสเชิงกลยุทธ์ที่มีศักยภาพและคุ้มค่าที่จะเสี่ยงให้ดี (Intelligent Risks)

2.1 ก 3 พยายามสืบเสาะค้นหาข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน อย่าคิดอย่างจำกัดเฉพาะตลาดหรือผลิตภัณฑ์ที่เราดำเนินการอยู่ อย่าลืมประเมินตัวเราเองด้วยว่ามีขีดความสามารถเดิม อยู่เพียงใด เช่น เรื่องเทคโนโลยี เรื่องคน เรื่องนวัตกรรม เรื่องสมรรถนะหลักเดิมที่เรามีอยู่ ว่าดีพอที่จะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจ ให้ทำ Scenario Analysis และติดตามสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดเพื่อปิดจุดบอดของข้อมูล



2.1 ก 4 ผู้นำระดับสูงควรประเมินรูปแบบองค์กร หรือที่เราเรียกกันว่าระบบงาน (Work System) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างจริงๆจังๆว่ายังดีพอที่จะทำให้เราฝ่าฟันการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ภาคการศึกษา เผชิญการเปลี่ยนแปลงจาก Campus based เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบ Modular เราจะยังคงจัดองค์กรแบบเดิมและให้ภาควิชาทำเรื่องพวกนี้เป็นงานฝาก หรือจะพลิกโฉมองค์กรใหม่ แยกฝ่ายงาน ตั้งรองคณบดีการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อรับผิดชอบโดยตรง แล้วสรรหาคน    ที่ทำเป็นซึ่งอาจเป็นคนนอกมาทำเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า เป็นต้น
 
          แน่นอน การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม ทำให้เราต้องปรับตัว ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ย่อมเกิดความจำเป็นที่องค์กรต้องปรับตัวตาม (needed changes) ผู้บริหารระดับสูงก็ต้องมานั่งถกหาทางออกกันว่าเพื่อให้ฝ่าฟันสึนามิสำเร็จ องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านคน ระบบการทำงาน เทคโนโลยี โครงสร้างองค์กร ลูกค้า ผลิตภัณฑ์ ตลาด พันธมิตร ผู้ส่งมอบ วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจน ภาวะผู้นำเอง ทั้งหมดก็ควรจัดทำแผน และ Roadmap ที่ชัดเจน ก็คือ Transformation Roadmap นั่นเอง
ที่มา : Face book  “TQA Coach”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้