นวัตกรรมการขนส่งในอนาคต

4527 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นวัตกรรมการขนส่งในอนาคต

นวัตกรรมการขนส่งในอนาคต

การขนส่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเทคโนโลยี และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปเป็นวิถีใหม่ การขนส่งในอนาคตจึงไม่เพียงเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของระบบการขนส่งอีกด้วย เราจึงชวนมาดูเทรนด์การขนส่งในโลกอนาคต 3 เทรนด์หลัก นั่นคือ การขนส่งที่เน้นพลังงานไฟฟ้า การใช้ระบบอัตโนมัติ และการปรับรูปแบบการให้บริการด้านการขนส่งและเดินทาง

การขนส่งที่เน้นพลังงานไฟฟ้า

การขนส่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ภาคขนส่งปล่อยก๊าซเป็นสัดส่วน 28% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินและดีเซล) เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องบิน และรถไฟ ยานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขนส่ง

ปี 2563 สัดส่วนของ EV มีเพียง 6% ของยอดขายยานยนต์ทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 13% และ 22% ในปี 2568 และ 2573 ตามลำดับ ซึ่งหลังจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ แต่ละประเทศตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างท้าทายมากขึ้น

ขณะที่มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าลดลง 80% จากปี 2553 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าใน     วงกว้างมากขึ้น

ยานยนต์ไร้คนขับ

ยานยนต์ไร้คนขับสร้างโอกาสที่น่าตื่นเต้นในการปฏิวัติระบบการขนส่งผู้คนและสินค้า รวมไปถึงการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ลดการติดขัดในการเดินทางท่ามกลางการจราจรที่พลุกพล่าน และอาจเปลี่ยนวิธีในการสร้างเมือง ซึ่งในอนาคตที่จอดรถขนาดใหญ่จะกลายเป็นอดีต เมื่อยานพาหนะไร้คนขับสามารถมาส่งเราถึงที่หมายและกลับมารับเราภายหลังได้

อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับของบริษัท ปัจจุบันอยู่ในระดับ 5 และสามารถทำงานแทนผู้ขับขี่ทั้งหมดในทุกสถานการณ์ได้ ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระดับ 4    ที่ยานพาหนะสามารถขับเองได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพิ่มเติมอีก 2 - 3 ปี

ปัจจุบันมีบางประเทศได้เปิดให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับแล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกา Alphabet Inc. บริษัทแม่ของกูเกิล เปิดตัวรถยนต์ไร้คนขับ Waymo และให้บริการเป็นแท็กซี่ไร้คนขับเต็มรูปแบบสำหรับบุคคลทั่วไปในปี 2563 ด้านประเทศจีนมีการเปิดตัว AutoX บริการแท็กซี่ไร้คนขับเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี 2564

สำหรับการขนส่งสินค้า หลายบริษัทกำลังพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับ รวมถึง TuSimple สตาร์ตอัปผู้ผลิตรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติสัญชาติอเมริกันที่ทำงานร่วมกับ UPS เพื่อดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับกับบริการขนส่งพัสดุ โดยนำเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมาติดตั้งไว้ในรถขนส่งพัสดุที่วิ่งระหว่างเมืองในรัฐแอริโซนา (โดยมีคนขับ   และวิศวกรประจำอยู่ในรถ) ผลปรากฏว่า ใช้เวลาและพลังงานน้อยกว่ารถบรรทุกแบบดั้งเดิมที่ใช้คนขับ ปัจจุบัน บริษัท   ได้ดำเนินการทดลองแบบไร้คนขับสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2564 และวางแผนเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติในปี 2567

บริการภิวัฒน์ (Servitization)

รูปแบบของการบริการที่เข้าใจและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่ส่งผลต่อทุกอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการขนส่ง ทุกวันนี้พลเมืองจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ต่างก็ซื้อรถยนต์เพื่อความสะดวกในการเดินทาง รถจึงมีจำนวนมากเกินความจำเป็น เกิดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศตามมา เมื่อผู้คนหันมาให้ความสนใจกับภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์คือ Mobility-as-a-Service (MaaS)


Mobility-as-a-Service (MaaS) หรือระบบบริการด้านการขนส่งและเดินทาง เป็นบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ   แบบออนดีมานด์โดยรวมทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย (multimodal transportation) และมีบริการครบ        ในแพลตฟอร์มเดียว ตัวอย่างเช่น คุณสามารถเช่ารถยนต์เป็นรายชั่วโมง ยืมสคูตเตอร์ไฟฟ้า หรือจองบัตรรถยนต์ขนส่งสาธารณะ ซึ่งทั้งหมดนี้ ใช้บริการได้ผ่านแพลตฟอร์มเดียว แต่ส่วนประกอบที่สำคัญไม่แพ้กันคือตัวยานยนต์ โดยถ้าจะรองรับ MaaS ที่เป็นผลผลิตจากยุคดิจิทัล ตัวยานยนต์ก็ต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ smart environment    ได้ด้วย 

แนวคิดหลักของการบริการในที่นี้คือการเข้าถึง "ความคล่องตัว" มากกว่าการเป็นเจ้าของ ซึ่งในอนาคตชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของยานยนต์ใด ๆ เลยก็ได้

เตรียมพบนวัตกรรมขนส่งในอนาคต

3 เทรนด์ข้างต้นเป็นรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในยานพาหนะทั่วไปสำหรับผู้บริโภค แต่สำหรับบริการขนส่งสาธารณะ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาระยะหนึ่งและพร้อมที่จะทดลองใช้งานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น "MagLev" รถไฟแม่เหล็กความเร็วสูง หรือ "Hyperloop" ระบบขนส่งคนด้วยความเร็วสูง


MagLev เป็นนวัตกรรมการเดินทางความเร็วสูงที่เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกนี้ รถไฟชนิดนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็ก โดยใช้การลอยตัวระหว่างรางรถไฟจากแม่เหล็กแทนการวิ่งบนรางรถไฟทั่วไป ดังนั้นจึงไม่มีล้อ และยังเป็นระบบที่ไม่ต้องมีคนขับอีกด้วย สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่รถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันแล่นได้ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา จีนได้เปิดตัวรถไฟความเร็วสูง MagLev ที่มีความเร็วถึง 600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วสูงที่สุดในประเทศ และเกือบเท่าสถิติโลกของ MagLev LO ของญี่ปุ่นที่ทำไว้ที่ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          หากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ MagLev จะลดระยะเวลาเดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ให้เหลือเพียง 2 ชั่วโมงกว่าจากเกือบ 5 ชั่วโมง

          ขณะที่ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการเดินทางรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งโครงการไฮเปอร์ลูปวัน (Hyperloop One) ที่มีเป้าหมายขนส่งคนเดินทางไปเป็นระยะไกลได้แบบเดียวกับเครื่องบิน แต่ในราคาที่ถูกกว่ามาก

แคปซูลโดยสารหรือ "พ็อด" (Pod) ของระบบขนส่งไฮเปอร์ลูป


ไฮเปอร์ลูปเป็นระบบที่นำคนไปใส่ใน "ขบวนรถ" ที่เปรียบได้กับ "กล่องพัสดุ" แล้วหาทางส่งไปด้วยความเร็วสูง      อีลอน มัสก์กับทีมงานคำนวณว่าระบบดังกล่าวน่าจะทำความเร็วได้สูงถึง 1,126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเทียบกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ (ระยะทางราว 650 กิโลเมตร) โดยใช้เวลาเพียง 35 นาทีเท่านั้น

ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป บริษัทเทคโนโลยีการขนส่งสัญชาติอเมริกัน ได้เผยโฉมตู้สินค้าจำลอง       เชิงพาณิชย์ขนาดยาวเกือบ 10 เมตร ในงาน Dubai Expo 2020 - 2021 โดยการันตีว่าระบบไฮเปอร์ลูปที่ใช้พลังงาน   จากแผงโซลาร์เซลล์ของพวกเขา จะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 10,000 คน ต่อการเดินทาง 1 เที่ยวใน 1 ชั่วโมง หรือ 45 ล้านคนต่อปี โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำความเร็วในการเดินทางด้วยเทคโนโลยีนี้ให้ได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เวอร์จิน ไฮเปอร์ลูปคาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2570 โดยจะเริ่มที่สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตะวันออกกลาง หากทำได้จริง เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อทุกภาคส่วน  และเป็นนวัตกรรมการขนส่งที่พลิกโฉมโลกในอนาคตได้อย่างแท้จริง

ที่มา : นวัตกรรมการขนส่งในอนาคต (bot.or.th)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้